JAPAN:ไอเอ็มเอฟชี้บีโอเจควรตรึงดอกเบี้ยต่ำพิเศษไว้ต่อไป ขณะต้องเตรียมพร้อมปรับแนวทาง
นายปิแอร์-โอลิเวียร์ กูรินชาส หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) กล่าวว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ต้องคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษต่อไป ขณะที่บีโอเจจะใช้เวลาในการยึดโยงตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อไว้ที่เป้าหมาย 2% อีกครั้ง แต่บีโอเจก็ต้องเฝ้าระวังความเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นสูงเกินคาด และต้องเตรียมพร้อมที่จะคุมเข้มนโยบาย ถ้าหากเงินเฟ้อสูงเกินเป้าหมายนานเกินไป
เขากล่าวว่า "มีโอกาสในตอนนี้" ที่จะยึดโยงตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อไว้ที่เป้าหมายของบีโอเจอีกครั้ง ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานสูงเกิน 2% และค่าจ้างเริ่มที่จะเพิ่มขึ้น แต่ก็จะต้องใช้เวลา และจะไม่เกิดขึ้นในเวลาข้ามคืน" เนื่องจากประชาชนต้องเชื่อมั่นว่า ญี่ปุ่นจะไม่กลับไปสู่ภาวะเงินฝืด และเขากล่าวอีกว่า "เร็วเกินไป" สำหรับบีโอเจที่จะคุมเข้มนโยบาย
ขณะที่การคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำพิเศษเป็นเรื่องที่เหมาะสม แต่บีโอเจก็ต้องตระหนักถึงประสบการณ์ของธนาคารกลางประเทศอื่นๆที่ยังคงประสบความยากลำบากในการควบคุมเงินเฟ้อที่สูง และเขากล่าวถึงประสบการณ์ของธนาคารกลางของสหรัฐและยุโรปว่า "เห็นได้ชัดว่า ประวัติจาก 2 ปีที่ผ่านมาก็คือเงินเฟ้อที่น่าจะเกิดขึ้นชั่วคราว แต่กลับกลายเป็นว่าไม่ได้เกิดขึ้นชั่วคราว เราอาจจะมีพลวัตที่เหมือนกันในญี่ปุ่น ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเฝ้าระวังต่อไป และเตรียมพร้อมคุมเข้มนโยบายการเงิน ถ้าเงินเฟ้อยังคงสูงเกินไป"
เขากล่าวอีกว่า เมื่อดูจากโอกาสที่เงินเฟ้อของญี่ปุ่นจะยังคงเพิ่มขึ้น บีโอเจจึงควรสื่อสารกับตลาดถึงความพร้อมที่จะจัดการกับความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ ถ้าหากเกิดความเสี่ยงขึ้น
นอกจากนี้ จะเป็นเรื่องที่ "ยากมากๆ" ที่จะคุมเข้มนโยบายการเงินพร้อมไปกับคงนโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนไว้ เนื่องจากความท้าทายในการกำหนดระดับที่เหมาะสมสำหรับเป้าหมายอัตราดอกเบี้ย 2 ตัวดังกล่าว "การยกเลิกการควบคุมผลตอบแทนระยะยาวก่อนอาจจะปลอดภัยกว่า และหลังจากนั้น ถ้ามีความจำเป็นที่ต้องคุมเข้มนโยบายการเงิน บีโอเจก็จะสามารถทำได้ตามการคุมเข้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามปกติ แต่การเปลี่ยนถ่ายดังกล่าวจะมีความซับซ้อนทางเทคนิค"--จบ--
Eikon source text